เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมทริปถ่ายภาพกับกลุ่ม Wanonniwat Basic Photography Training Courses ซึ่งนับเป็นการออกทริปถ่ายรูปแบบนี้ครั้งแรกของผมเลยครับ คราวนี้บังเอิญว่าพี่ที่ทำงานที่เดียวกันก็สนใจจะไปเหมือนกัน เลยชวนกันไปลองดูสักครั้ง
ทริปถ่ายภาพครั้งนี้จัดขึ้นที่บ้านตากลาง บ้านบัว และบ้านตาทิพย์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 1 – 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เราเดินทางจากขอนแก่นมาถึงบ้านตากลางตอนเย็นวันที่ 1 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเห็นจะได้ สิ่งที่ได้เห็นตอนแรกเลยเมื่อมาถึงบ้านตากลางก็คือ มีช้างเยอะมาก แทบทุกบ้านเลยทีเดียว แม้แต่ในที่พักที่เราพักอย่าง มณีรัตน์ รีสอร์ท ก็มีการเลี้ยงช้างไว้ในบริเวณรีสอร์ทด้วย
เมื่อมาถึงเราก็เช็คอินเข้าที่พักเลย เสร็จแล้วก็ออกไปหารับประทานอาหารเย็นกัน ก็ได้เจอกับนักถ่ายภาพท่านอื่นที่พักอยู่ที่เดียวกัน ทักทายทำความรู้จักกันตามอัธยาศัย อาหารเย็นก็กินกันแบบง่ายกับอาหารร้านตามสั่งที่อยู่แถวๆ ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง แล้วกลับไปพักผ่อนกันที่โรงแรมเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันรุ่งขึ้นซึ่งต้องเริ่มแต่เช้ามืดสำหรับคนที่อยากซ้อมมือก่อนกับแสงเช้าในระหว่างที่รอเพื่อนๆ นักถ่ายภาพกลุ่มที่มาจากกรุงเทพ
เช้าวันที่ 2 เราตื่นกันตั้งแต่ตีสี่เพื่อเตรียมตัวก่อนไปยังจุดนัดพบเพื่อถ่ายช้างกับแสงเช้า แต่ตอนแรกเราเข้าใจผิดเรื่องจุดนัดพบนิดหน่อยทำให้ไปคอยกันที่โรงเรียนบ้านบัว แต่ที่จริงแล้วเราต้องไปกันที่สระน้ำใหญ่ หลังจากโทรคอนเฟิร์มเรื่องจุดนัดพบกันใหม่แล้วเราก็ไปเจอกันยังจุดนัดพบที่แท้จริง
เช้านี้มีช้างสามเชือกมาเข้าฉากให้เราได้ซ้อมมือระหว่างรอเพื่อนจากกรุงเทพ การมาก่อนได้เปรียบแบบนี้นี่เอง แค่ซ้อมมือนี่ก็กดกันรัวๆ จนเมมเต็มกันแล้วครับ เพราะเริ่มถ่ายกันตั้งแต่ตอนตีห้าครึ่ง จะเห็นฟ้าเปลี่ยนสีตอนรุ่งสางจนแสงเริ่มแข็งก็หยุดถ่ายกัน ซึ่งเป็นเวลาที่กลุ่มเพื่อนนักถ่ายภาพจากกรุงเทพมาถึงพอดี (กลุ่มเพื่อนๆ ที่มาทีหลังได้ถ่ายกันนิดหน่อยในช่วงท้ายๆ แต่ไม่เป็นไรเพราะในวันรุ่งขึ้นเราจะกลับมาที่จุดนี้กันใหม่)
พอแสงอาทิตย์สว่างจ้า เราก็หยุดถ่ายซีนนี้กันเพื่อไปรับประทานอาหารเช้าและพักผ่อนกันที่โรงแรมก่อนจะเริ่มโปรแกรมกันอีกครั้งตอนเก้าโมงเช้า
ส่วนควาญช้างก็พาช้างกลับไปพักผ่อนเช่นกัน ระหว่างกลับก็มีการ Live สดบอกเพื่อนๆ ซะหน่อยว่าเสร็จสิ้นภารกิจซีนซ้อมมือเรียบร้อยแล้ว (เดาเอา อาจจะแค่เซลฟี่เฉยๆ 555)
เราเริ่มโปรแกรมกันอีกครั้งประมาณเก้าโมงเช้าที่โรงเรียนบ้านบัว (คราวนี้ไม่ผิดที่ล่ะ) เป็นการถ่ายภาพวิถีชีวิตของชุมชนคนเลี้ยงช้าง ซึ่งนอกจากช้างแล้วก็จะมีเด็กๆ ควาญช้าง พระ และนางแบบในชุดสาวชาวกุยมาเข้าฉากให้เราถ่าย โดยก่อนถ่ายอาจาย์เหน่งผู้จัดทริปก็มีการเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวกุยหรือ ก๋วย ซึ่งเป็นคนเลี้ยงช้างในจังหวัดสุรินทร์ให้เราฟังกันสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจคอนเซ็ปของการถ่ายภาพในเช้าวันนี้ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มาร่วมทริปกับเราและไม่มีแบ็คกราวด์เกี่ยวกับเรื่องคนเลี้ยงช้างมาก่อน การอธิบายให้ทราบคอนเซ็ปการถ่ายภาพก่อนเริ่มถ่ายจะช่วยให้นักถ่ายภาพรู้แนวทางในการถ่ายได้ดีขึ้น นอกจากนี้อาจารย์เหน่งยังกำชับถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการถ่ายภาพช้าง เพื่อให้ทุกคนถ่ายภาพช้างได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
ในระหว่างที่ทีมงานเตรียมงานกันอยู่และอาจารย์เหน่งกำลังอธิบายคอนเซ็ปการถ่ายภาพอยู่นั้นคุณลุงเจ้าของช้างก็พาช้างมารอเข้าฉากอยู่ใกล้ๆ แหม่ เท่ห์จริงๆ ครับ
ชาวกุย หรือ ก๋วย มีถิ่นเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา เดิมทีชาวกุยเป็นเหมือนรัฐอิสระแต่ต่อมาถูกเขมรใช้อำนาจทางทหารปราบชาวกุยและผนวกรวมอาณาจักรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขมร ชาวกุยจึงได้อพยพเข้าไปอยู่ในเมืองอัตบือแสนปาง แคว้นจำปาศักดิ์
กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะการออกเสียงของแต่ละถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กุย กูย โกย หรือก๋วย แต่ความหมายของคำเหล่านั้นจะหมายถึง “คน” ทั้งสิ้น
ตามประวัติการขุดค้นร่องรอยอารยธรรมในเขมร พบว่า ชาวกุยเป็นกลุ่มข่าที่หน้าที่จับช้างศึกให้เจ้านายเขมร และถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่สกัดหิน ขุดสระน้ำใหญ่ๆ หลายแห่งในบริเวณนครธมและที่อื่นๆ สาเหตุที่ชาวกุยอพยพเข้าสู่ที่ราบสูงของไทยบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานีและบุรีรัมย์นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางทางการเมืองในแคว้นจำปาศักดิ์ ชาวกุยจึงอพยพหนีภัยทางการเมืองข้ามลำน้ำโขงสู่ภาคอีสานของไทยทางแก่งสะพือและแยกย้ายตั้งถิ่นฐานหลักแหล่งอยู่ระหว่างแม่น้ำมูลกับเทือกเขาดงรัก เพราะบริเวณดังกล่าวมีป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสะดวกในการเลี้ยงช้างได้ ทำให้บริเวณจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษมีชาวกุยอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าจังหวัดอื่นๆ และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้ามายังดินแดนส่วนนี้ จึงทำให้ดินแดนส่วนนี้ตกเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในเวลาต่อมา
ในสมัยพระที่นั่งสุริยามริณทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยาช้างเผือกแตกโรงหนีมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตเมืองพิมายและเลยเข้ามาถึงถิ่นที่อยู่ของชาวกุย เจ้าเมืองพิมายจึงได้พาคณะติดตามช้างเผือกจนมาพบกับหัวหน้ากลุ่มชาวกุย 4 คน (บางแหล่งข้อมูลบันทึกไว้ว่า 5 คน) ที่เป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งชาวกุยนั้นมีความชำนาญเดินป่าล่าสัตว์และคล้องช้างป่า หัวหน้ากลุ่มชาวกุยจึงได้ช่วยเจ้าเมืองพิมายติดตามจับช้างเผือกส่งคืนถวายสมเด็จพระสุริยามรินทร์ได้ จึงได้ความดีความชอบและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย ต่อมาได้มีการส่งส่วยอย่าง ช้าง, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ส่งไปยังอยุธยา จึงได้เลื่อนจาก “หลวง” เป็น “พระ” และโปรดเกล้าให้ยกบ้านเป็นเมือง คือ เมืองสุรินทร์ เมืองรัตนบุรี เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ สำหรับรายละเอียดแบบลึกๆ เกี่ยวกับชาติพันธุ์และการอพยพถิ่นฐานของชาวกุย เดี๋ยวผมแปะลิงค์ไว้ท้ายบทความนะครับ เผื่อมีใครอยากอ่านรายละเอียดเยอะๆ
การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวีเป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรมีลายทางยาวเป็น ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ (ข้อมูลคัดลอกจาก http://www.isangate.com)
การเลี้ยงช้างของชาวกุยเป็นการเลี้ยงเหมือนช้างเป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นช้างจะมีความผูกพันอย่างมากกับผู้เลี้ยงหรือควาญช้าง สังเกตได้จากระหว่างถ่ายภาพกันควาญจะต้องอยุ่ใกล้ๆช้างเสมอ หากควาญออกห่างช้าง โดยเฉพาะช้างเด็ก เค้าจะเริ่มมองหาเจ้าของและไม่ค่อยยอมเข้าฉากด้วย ส่วนเด็กๆ ที่บ้านไหนมีช้างเลี้ยงในบ้านก็จะมีความคุ้นเคยกับช้างและไม่ค่อยกลัวเวลาที่ต้องเข้าฉากกับช้าง อย่างไรก็ตาม อาจารย์เหน่งและทีมงานกำชับตลอดเวลาว่าห้ามเข้าใกล้ช้างโดยไม่มีควาญอยู่ใกล้ๆ เด็ดขาด เพราะช้างเหล่านี้แม้จะถูกเลี้ยงโดยคน แต่กับคนแปลกหน้าแล้วช้างเหล่านี้ก็จะไม่มีความคุ้นเคยและอาจถูกทำร้ายได้ (คล้ายกับการเลี้ยงสุนัขนั่นแหล่ะครับที่คุ้นเคยกับเจ้าของแต่ไม่คุ้นเคยกับคนแปลกหน้า)
สำหรับซึนที่โรงเรียนบ้านบัว นอกจากวิถีคนเลี้ยงช้างแล้ว ก็มีเด็กๆ และหลวงพ่อจากวัดป่าใกล้ๆ โรงเรียนมาร่วมเข้าฉากด้วยครับ
เราถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนานเมมเต็ม แบตหมด กันเป็นแถวๆ จนถึงเวลาเที่ยงก็พักทานข้าวกัน และนัดกันใหม่ตอนเวลาประมาณบ่ายสองโมงที่วัดป่าอาเจียงบริเวณสุสานช้าง
บ่ายสองทุกคนไปรวมตัวกันที่วัดป่าอาเจียง อันเป็นสุสานช้างแห่งเดียวในโลก เพื่อถ่ายภาพในซีนของหมอปะกำทำพิธีเซ่นไหว้และเสี่ยงทายก่อนออกไปคล้องช้าง ซึ่งมีหมอปะกำมาทำพิธีให้ดูสามคน
หมอปะกำหรือหมอช้างอาวุโสผู้ทำพิธีเซ่นไหว้เพื่ออัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษรับเครื่องเซ่นไหว้พร้อมกับขอพรเพื่อให้มีโชคลาภและเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม ณ ศาลปะกำ สถานที่เปรียบเสมือนเทวาลัยอันเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย โดยศาลปะกำนี้นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน หรือที่บ้านของทายาทฝ่ายพ่อ มีลักษณะเป็นเรือนไม้คล้ายหอสูง มีเสาสี่ต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ณ ตำแหน่งที่เงาบ้านไม่ตกทับตัวศาลและเงาศาลไม่ตกต้องตัวบ้านซึ่งศาลปะกำจะใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำ และอุปกรณ์ในการคล้องช้าง
การเซ่นผีปะกำจะกระทำโดยหมอช้างอาวุโส เจ้าของบ้าน และญาติพี่น้อง นำของเซ่นไหว้ไปยังศาลปะกำ จุดเทียนแล้วอัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกูยเคารพบูชาให้เข้ามาสิงสถิตย์ในเชือกเชือกปะกำนี้เพราะหนังปะกำถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวกูยใช้ในการคล้องช้างป่า ซึ่งในการเซ่นผีปะกำ มีหลักว่าผู้ทำพิธีและขึ้นศาลปะกำได้จะต้องเป็นผู้ชาย ลูกหลานของต้นตระกูล ผู้เป็นเจ้าของศาลปะกำ บุคคลอื่นห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด และโดยเฉพาะสตรีห้ามแตะต้องหนังปะกำเด็ดขาด ดังนั้น ผู้เข้าร่วมพิธี จึงต้องนั่งอยู่ที่พื้นดินล้อมรอบศาลปะกำ
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx…
อันนี้เป็นการจำลองฉากหมอปะกำสอนควาญช้างหนุ่มถึงวิถีชีวิตและแนวทางปฏิบัติของการเป็นหมอช้างที่ดี
สุสานช้างที่วัดป่าอาเจียง หรือสำนักสงฆป่าอาเจียง เป็นที่ตั้งของสุสานช้างแห่งเดียวในโลกที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อรวบรวมกระดูกช้างที่ล้มตาย จากในหลายพื้นที่มาบรรจุไว้ในหลุมและสร้างฝาครอบที่มีลักษณะเป็นหมวกของนักรบโบราณครอบไว้ สำหรับหลุมที่สร้างเป็นรูปหมวกนักรบทหารโบราณนั้น เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ช้างไทย ที่เป็นสัตว์ใหญ่ คู่บ้านคู่เมืองไทยมาตั้งแต่อดีต เคยเคียงข้างกับกองทัพในการสู้รบกับข้าศึกที่รุกราน เพื่อกู้ชาติบ้านเมือง และเป็นสัตว์คู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทย สร้างคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินไทยมาอย่างมากมายตั้งแต่อดีต เมื่อช้างตายจึงทำเป็นหมวกนักรบทหารโบราณ เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ช้างไทย จำนวนกระดูกช้างที่รวบรวมไว้ที่นี่ก็มีจำนวนมากถึง 200 เชือกจนได้ชื่อว่าเป็นสุสานช้างที่มีกระดูกช้างอยู่มากที่สุด
ที่ด้านหน้าหลุมจะมีชื่อของช้างเชือกนั้นเขียนบอกไว้ด้วยดังภาพ
ในช่วงบ่ายนอกจากถ่ายซึนหมอปะกำแล้ว ยังมีนางแบบสาวสวยสองคนดีกรีรองมิสแกรนด์บุรีรัมย์ น้องเมษา และมิสแกรนด์สุรินทร์ น้องตั๊ก สวมใส่ชุดผ้าไหมทำมือจากร้าน ผ้าไหมสุรินทร์สิบธันวาทำมือ Sibthunwa handcrafted มาเป็นแบบให้ถ่ายด้วยครับ
ในช่วงเย็น เรากลับไปที่สระใหญ่ตอนถ่ายซ้อมมือก้นในตอนเช้าอีกครั้ง เพื่อถ่ายแสงเย็นในฉากที่ควาญช้างพาช้างกลับบ้าน ทั้งหมอบ ทั้งคลานกันตามคันนา สนุกสนานกันไป เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม (เป็นซีนที่ถ่ายกันสนุกมากครับ ถ่ายกันจนมืดค่ำไปเลย
ช่วงท้ายมีฟ้าระเบิดเป็นสีแดงอมม่วงอมชมพูให้ถ่ายกันเป็นซีนสุดท้ายอีก โชคดีกันจริงๆ ครับ หลังจากถ่ายเสร็จก็ไปทานข้าวร่วมกันที่บ้าน อ.บ.ต. ก่อนแยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย
เช้าวันสุดท้าย เราไปเริ่มกันที่สระน้ำใหญ่อีกครั้งเพื่อถ่ายซีนแสงเช้าของจริง (หลังจากซ้อมมือกันไปก่อนแล้วเมื่อวาน) โดยมีช้างสามเชือกมาเข้าฉากเหมือนเดิม เช้านี้ท้องฟ้าค่อนข้างปลอดโปร่ง จึงได้สีท้องฟ้าสวยกว่าเมื่อวาน
ที่พิเศษกว่าเมื่อวานคือวันนี้จะมีซีนพระบิณฑบาตรและซีนสาวชาวกุยใส่บาตรด้วยครับ
แสงเช้านี้อลังการมากครับ ได้ภาพสวยถูกใจกันไป
หลังจากถ่ายซีนแสงเช้ากันเสร็จเราก็ไปทานอาหารเช้ากันที่บ้าน อบต. ระหว่างทานอาหารเช้ากันอยู่ก็มีเรื่องตื่นเต้นกันนิดหน่อย เมื่อมีลูกช้างเชือกหนึ่งวิ่งตื่นผ่านหน้าบ้าน อบต. มา และมีควาญสองคนวิ่งตามมาจับ ลูกช้างตัวไม่ใหญ่แต่ท่าทางจะแรงเยอะทีเดียว ควาญสองคนที่วิ่งจับนี่ท่าทางจะเหนื่อยหนักน่าดูกว่าจะควบคุมลูกช้างไว้ได้ อบต.ประชิต บอกว่าลูกช้างพยายามวิ่งหาแม่ เพราะควาญเพิ่งจับลูกช้างแยกจากแม่วันแรก ซึ่งมีความจำเป็นต้องจับแยกตั้งแต่ลูกช้างยังเล็ก ไม่เช่นนั้นลูกช้างจะติดแม่ และถ้าไปจับแยกตอนลูกช้างตัวโต จะควบคุมไม่ได้
ตอนสายๆ เรากลับไปที่วัดป่าอาเจียงกันอีกครั้ง เพื้่อถ่ายซีนวิถีชีวิตของช้างกับพระและเณร
และปิดท้ายกันด้วยซีนมิสแกรนด์สุรินทร์กับช้าง สวยงามมากครับ
เป็นการออกทริปถ่ายรูปครั้งแรกของผมที่ประทับใจมากครับ และติดใจเลยครับกับทริปถ่ายรูปที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตในแง่มุมต่างๆ ไปด้วยพร้อมกัน ตอนนี้เลยจองทริปกับกลุ่มวานรนิวาศไปอีกสามทริปแล้วครับ กลับมาจะมาเล่าให้ฟังนะครับว่าเป็นยังไงบ้าง
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ
- อาจารย์แหน่ง (Saravut Whanset) และทีมงานWanonniwat Basic Photography Training Courses สำหรับทริปดีๆ ครั้งนี้
- อบต.ประชิต Homestay บ้านหนองบัว
- น้องตั๊ก Nongtak Paweeporn
- น้องเมษา Manthana Chidram
- ชุดผ้าไหม จากร้าน ผ้าไหมสุรินทร์สิบธันวาทำมือ Sibthunwa handcrafted
- ควาญช้างทุกคนสุดหล่อ Palakorn Salangam
- ชาวบ้านหนองบัว ชาวบ้านตาทิพย์
- ถ้าอยากจะติดต่อท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ใช้ชิวิตร่วมกับช้าง ติดต่อที่พี่ประชิต 0819776680
- พิเศษ ทีมสตาปทุกๆท่าน
พิทักษ์ฉัตร เทพราชา (Pitakchatr Thepracha) Rus CG Jumpot Tharungsri เฉลิมวุฒิ ศุภสุข Sasin Tipchai Jikko Spy
ประวัติชาติพันธุ์ของชาวกุย
https://schoolonly.wordpress.com/ประวัติความเป็นมาของชา/
http://www.isangate.com/isan/paothai_kui.html
ข้อมูลสุสานช้างวัดป่าอาเจียง
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/62665
ขอบคุณมากครับ อ่านสนุก ได้ความรู้ ภาพสวยมากครับ
ภาพสวยมาก เรื่องราวดีด้วย น่าสนใจ
ขอบคุณมากครับ
อ๊อบขุ๋่น. ด๋่าลๆ. โด๋ย. แตปาย. หรื๋่ง. ค@งกูย. มะไฮ. ด๋่าล. เหลอะฮ”. แน๋่. คลัง. ขอบคุณนะครับสำหรับเรื่องเล่า แต่ข้อมูลของชาวกูยมีมากกว่านี้มากกกกกกก ติดตามชมรมชาวกูยแห่งประเทศไทยนะครับ
ขอบคุณครับ รอติดตามครับ อยากเรียนรู้ให้มากขึ้นครับ